บางคน  เชื่อกันว่าวัดในพุทธศาสนาที่น่าเลื่อมใสศรัทธา  ต้องอยู่ป่าอยู่เขาเท่านั้น  มีศาสนสถานพอเพียงเพื่อการดำรงชีพ  พอเพียงเพื่อการคุ้มแดด คุ้มฝน   ถาวรวัตถุต่างๆ ล้วนไม่จำเป็น    พากันคิดว่า วัดที่อยู่ตามป่าตามเขาประเภทเดียวเท่านั้นถึงจะเป็นวัดที่ น่าทำบุญ น่าเลื่อมใส กว่าวัดในรูปแบบอื่นๆ

 

                  หรืออาจต้องเป็นรูปแบบที่คุ้นเคย ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วไป เช่น โบสถ์ ต้องเป็นรูปนี้ วิหารต้องเป็นแบบนี้  และต้องมีจิตรกรรมเป็นลายไทยในรูปแบบที่คุ้นเคย  มีพิธีการต่างๆร่วมกับวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างกลมกลืน เหมือนสมัยปู่ย่าตายาย                                                                                         


 


 



 

           วัดใดก็ตาม ที่สร้างใหญ่โต  กว้างขวาง วิจิตรบรรจง  บางคนอาจจะคิดสงสัย และ เกิดอคติ  เพราะมันไม่ถูกต้องตามความเห็นและความเชื่อของตน อาจเป็นจุดเริ่มของกระบวนการเกิดอกุศลจิตโดยอัตโนมัติ โดยที่สติก็ตามไม่ทัน


ศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ราชบุรี



วัดพระธรรมกาย


ศาลา/สภาธรรมกาย


วิหารวัดหลวงพ่อโสธร


วัดใหญ่ เพื่อรวบรวมสื่อธรรมะ ในญี่ปุ่น


วัดขนาดใหญ่ ในไต้หวัน เพื่อเผยแพร่ธรรมะ


มหาเจดีย์ชเวดากอง ศูนย์รวมจิตใจ ชาวพม่า


พระสังกัจจาย ที่ไต้หวัน

                               

            แม้จะเกิดอคติ แต่ยังไม่น่าห่วงเท่า การใช้เทคโนโลยี่สมัยใหม่ เช่น อินเตอร์เนท เพื่อถากถาง เยาะเย้ย หรือ กล่าวจาบจ้วง วัดใหญ่โตเหล่านั้น เพียงเพราะเชื่อว่าตนกำลังปกป้องศาสนา   เพียงเพราะยังไม่รู้วัตถุประสงค์ของศาสนสถานเหล่านั้น

 

           อาจเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง เพราะความถูกต้องในความเชื่อของตน อาจไม่ใช่สิ่งเดียวกับ  ความถูกต้องในกฎแห่งวิบากกรรม ก็เป็นได้

      

            หากจะลองศึกษาประวัติศาสตร์สักนิด อาจจะฉุกคิดเปรียบเทียบได้บ้างว่า สิ่งที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ก็ได้บังเกิดขึ้นมา ในทุกยุคทุกสมัย

 

           ใครจะพูดได้เต็มปากว่า  ศาสนาสถาน และ ถาวรวัตถุ อันโอ่อ่า และใหญ่โต ที่พระเจ้าอโศกมหาราช ระดมสร้างขึ้นทั่วทั้งชมพูทวีปและสุวรรณภูมิในสมัยนั้น ไมมีผลต่อความสืบเนื่องของพระพุทธศาสนาจนสามารถดำรงมั่นอยู่ได้ในปัจจุบัน


เสาอโศกหนึ่งในหลายหมื่นต้นทั่วชมพูทวีป





                                       

            ใครจะแน่ใจว่าศาสนาสถานอันยิ่งใหญ่  มั่นคงแข็งแรง และ เป็นสิ่งแปลกใหม่ในสมัยนั้น อย่างเช่น บูโรพุทโธ ในอินโดนีเซีย , นครวัดในกัมพูชา , พุทธโบราณสถานในอัฟกานิสถาน  ไม่มีผลต่อความเจริญรุ่งเรือง และ เป็นพาหนะเพื่อนำพาพระธรรมอันประเสริฐผ่านให้ห้ผู้คนในอดีต ในประเทศเหล่านั้น ถึงฝั่งไปกี่มากน้อย 


บูโรพุทโธ ศูนย์กลางพุทธศาสนาในอินโดนีเซีย ในสมัยก่อน


นครวัด รังสรรค์จากแรงศรัทธาในพุทธองค์


พระพุทธรูปแกะสลัก สร้างจากศรัทธา ของชาวอัฟกานิสถานโบราณ

                

           พิจารณาด้วยว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ ในสมัยนั้น ก็ยังมีอาชีพเกษตรกรรม อยู่กระต๊อบหรือเรือนไม้กันอย่างเรียบง่าย  และก็ไม่น่าจะต่างกับสมัยนี้ ที่บางคนก็กลัวและต่อต้าน ถาวรวัตถุขนาดใหญ่ ที่ท้ายสุดกลายมาเป็นประโยชน์ต่อคนยุคปัจจุบัน

 

          เช่นนี้แล้ว ไม่คุ้มเลย ที่ท่านจะกล่าวจาบจ้วง คัดค้าน ต่อต้าน การก่อสร้างศาสนาสถานอันใหญ่โต โดยยังไม่รู้แน่ชัดถึงวัตถุประสงค์ของเขา  

 

          ไม่ว่าจะเป็นวัตรปฏิบัติตามแนวพระมหาโพธิสัตว์ซึ่งโน้มเอียงไปทางมหายานนิกาย อันแปลกตาจากฝ่ายเถรวาทของประเทศเรา อาจไม่คุ้มที่จะวิพากษ์วิจารณ์โดยที่ยังไม่รู้ หรือเพียงเพราะขัดกับจริตของเรา มันอาจเป็นประโยชน์อย่างใหญ่ให้กับผู้อื่นก็ได้

 

          สำหรับปุถุชนคนธรรมดาผู้ใฝ่ดีทั้งหลาย สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการรักษาพุทธศาสนาของเรา ไม่น่าจะใช่การมุ่งถกกันว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด สิ่งใดตรงสิ่งใดอ้อม  แต่น่าจะเป็นการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ร่วมอนุโมทนาในสิ่งดีๆของทุกสำนัก  เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและความหลากหลายของพุทธศาสนาให้ครอบคลุมทุกจริตของมนุษย์   ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของพวกเราเท่านั้น แต่หมายถึงเพื่อลูกหลานในอนาคตต่อๆไปไม่มีที่สิ้นสุด

 

            อาจต่างเพียงจุดประสงค์ระหว่างทาง แต่ท้ายสุดต่างก็มุ่งสู่จุดหมายเดียวกันตามคำสอนของบรมครูของเรานั่นเอง


----------------------------------------        


           อ่านวิวัฒนาการของวัดและวัตถุประสงค์ในการสร้างวัดประเภทต่างๆ เช่น วัดเพื่อการเผยแพร่ , วัดเพื่อท้องถิ่นและการศึกษา  วัดเพื่อการปฏิบัติบำเพ็ญภาวนา  เพิ่มเติมได้ที่ วารสารอยู่ในบุญ  บทความโดย หลวงพ่อทัตตะชีโว รองเจ้าอาวาส วัดพระธรรมกาย 


http://www.kalyanamitra.org/u-ni-boon/main/index.php?option=com_content&task=view&id=765&Itemid=101


http://www.kalyanamitra.org/u-ni-boon/main/index.php?option=com_content&task=view&id=778&Itemid=102

 

คำขอขมาพระรัตนตรัย


นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า 3 จบ)


สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ทวารัตตะเยนะ กะตัง

สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต้ อุกาสะ ขะมามิ ภันเตฯ


         หากข้าพระพุทธเจ้า ได้เคยประมาทพลาดพลั้งล่วงเกินต่อพระรัตนตรัย อันมีพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย ในชาติก่อนก็ดี ชาตินี้ก้อดี ด้วยกายก็ดี วาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี ด้วยเจตนาก็ดี ไม่เจตนาก็ดี ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดี

         ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระธรรม พระอริยสงฆ์ทั้งหลาย และผู้มีพระคุณทุกท่าน ได้โปรดอดโทษให้แก่ข้าพระพุทธเจ้า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพานด้วยเทอญ .

--------------------------------------------------